
ปกหนังสือแค่รู้
เป็นหนังสือที่อธิบายการปฏิบัติ โดยเฉพาะคำว่าแค่รู้ คืออะไร?
เป็นไฟล์ pdf ครับเชิญดาวน์โหลดได้เลยครับ>>>khair roo.pdf
คำนำ
ชายตาบอดแต่กำเนิดได้ดื่มนมแพะสดรสเลิศแก้วหนึ่ง อันเป็นบรรณาการจากเพื่อนตาดี เมื่อลิ้มรสนมแก้วนั้นเสร็จแล้ว เขาก็ถามขึ้นมาว่า
“นมนี่อร่อยจัง หน้าตามันเป็นอย่างไรเนี่ย”
เพื่อนผู้ใจดี ตอบว่า “อ๋อ..นมก็สีขาวไงล่ะ”
ชายตาบอดงง เพราะเกิดมาก็ไม่เคยเห็นสีอะไรแม้แต่สีเดียว ถามเพื่อนรักอีกครั้งว่า
“เอ.. แล้วสีขาวนี่ หน้าตามันเป็นไง”
ชายตาดียิ่งงงกว่า เพราะไม่รู้จะอธิบายให้เพื่อนตาบอดฟังเข้าใจได้อย่างไร ได้แต่อ้อมแอ้มตอบไปว่า
“สีขาว..อึม.. ก็ขาวเหมือนกับนกกระยางน่ะซิ”
“แล้วนกกระยางหน้าตาเป็นไง” ชายตาบอดยังไม่หายสงสัย
“นกกระยางก็คอยาวๆ น่ะสิ” ชายตาดีพยายามอธิบายสุดชีวิต
“แล้วคอยาวเนี่ยเป็นไงล่ะ” ชายตาบอดขี้สงสัยซักต่อ จะเอาให้สะอาดให้ได้
ชายตาดีจนปัญญา จึงยื่นมือของตนไปดึงมือเพื่อนมาสัมผัสคอของตน พลางพูดว่า “คอก็เป็นอย่างนี้ไง”
ชายตาบอดเริ่มเข้าใจ แต่ก็ยังไม่ใช่ทั้งหมด เขาถามต่อว่า
“เออ..คอข้ารู้แล้วโว้ย แต่ไอ้ยาวๆ นี่สิ เป็นไง”
ชายตาดีเริ่มหมดความอดทน คว้าเอาเส้นเชือกที่อยู่ใกล้มือ ยัดใส่มือเพื่อน พลางอธิบายว่า
“ยาวๆ ก็เหมือนกับไอ้นี่แหละ”
ชายตาบอดเกิด “ซาโตริ” ขึ้นมาทันที อุทานออกมาด้วยความดีใจว่า
“อ๋อ...ข้ารู้แล้วๆ นมหน้าตามันเป็นอย่างนี้เอง”
ชายตาดี...งงงง...“เออคงงั้นมั้ง ”
การอธิบายคำว่า “แค่รู้” ก็เป็นเรื่องยากดังนิทานที่กล่าวแล้วข้างต้น บางครั้งผู้เขียนอธิบายอย่างหนึ่ง แต่ผู้ฟังเข้าใจไปอีกอย่างหนึ่ง เพราะเหตุว่าการเจริญสตินั้นไม่สามารถเข้าใจได้ด้วยการอ่าน การฟัง หรือการคิด มีแต่ จะต้องลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังเท่านั้น จึงจะประจักษ์แจ้งได้ด้วยตนเอง (ปัจจัตตัง)
ก็เพราะเหตุที่ “แค่รู้” เป็นเรื่องที่นอกเหนือคำอธิบายอย่างนี้ ผู้เขียนจึงได้แต่นำเอาบทความที่เขียนลงในวารสารของชมรมจริยธรรม โรงพยาบาลพุทธชินราช และเนื้อหาบางส่วนที่ผู้เขียนได้ตอบคำถามไว้ใน
เวบบอร์ดของ www.chinawangso.net มารวบรวมไว้ คงพอจะเทียบเคียงและอธิบายคำว่า “แค่รู้” ได้บ้างพอสมควร
ด้วยการุณยธรรม
พระมหาวิเชียร ชินวํโส
ตุลาคม ๒๕๕๒