ผู้ฝึกเจริญสติ มักมีชื่อเรียกต่างๆ กันไปเช่น โยคี นักปฏิบัติธรรม ธรรมจาริณี ญาติธรรมฯลฯ และมีชื่อเรียกวิธีการเจริญสตินั้นว่า สติปัฏฐาน, สมถกรรมฐาน, วิปัสสนากรรมฐาน, จิตภาวนา, การเจริญภาวนาฯลฯแล้วแต่จะเรียกกันไป และมีเพื่อนนักปฏิบัติหลายคนต่างยกย่องสำนักปฏิบัติของตนหรือยกย่องอาจารย์ของตนว่า สอนถูกต้อง ส่วนสำนักอื่นหรืออาจารย์ท่านอื่นๆ สอนผิดบ้างก็ว่าสำนักโน้นสอนแค่สมถะ สำนัก นี้สอนวิปัสสนา คนโน้นติดอยู่แค่สมถะ คนนี้จึง จะชื่อว่าปฏิบัติวิปัสสนาฯลฯ
แท้จริงแล้วในพระไตรปิฎกเองไม่ได้แยก สมถะและวิปัสสนาออกจากกัน ท่านเรียกรวมกัน ว่า วิปัสสนาธุระ สมถะกรรมฐานและวิปัสสนา กรรมฐานจึงเป็นของคู่กัน ไม่สมควรเป็นอย่างยิ่ง ที่จะแยกออกจากกันและขัดแย้งกันในเรื่องนี้
เพราะบางคนต้องเริ่มจากการเจริญสมถะ (ใจสงบ) ปูพื้นฐานใจให้มั่นคงเสียก่อน แล้วจึง ยกขึ้นสู่วิปัสสนา (กิเลสสยบ) ทำให้การปฏิบัติไม่ แห้งแล้งเกินไปนัก
แต่บางคนเริ่มต้นจากวิปัสสนาก่อน มีปัญญารู้ความเกิดดับของรูปนาม พอใจเหนื่อยล้า แล้วก็จะเข้าไปพักในสมถะเป็นสุขวิหารธรรม (ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของใจอันเป็นสุข)พอมีกำลัง แล้ว ใจจึงจะออกมารับรู้รูปนามต่อไป
เอาเป็นว่าสิ่งที่เราปฏิบัติอยู่นี้ จะเป็นสมถะ หรือวิปัสสนาก็ช่างเถิด ต้องถามตนเองว่า เริ่มลง มือปฏิบัติแล้ว หรือยังมัวเมาหมกมุ่นในโลกียวิสัย อย่างเต็มที่ แล้วยังเยาะหยันผู้ปฏิบัติว่างมงายอยู่ เท่านั้น
ไม่ว่าจะเป็นสมถะหรือวิปัสสนาก็ตาม ก็ล้วนต้องมีสติสัมปชัญญะคือมี “ความรู้สึกตัว” อยู่ด้วยเสมอ หากใครสงบนิ่งดิ่งลึก แล้วไม่รู้อะไร เลยนั้น เขาเรียกว่าสมาธิหัวตอ
และการฝึกเจริญสตินั้น ต่างจากการทำ การงานทางโลก ที่ทุกคนพึงหวังผลประโยชน์อัน สมควรแก่ตนได้ แต่การเจริญสตินั้นหากใคร คิดว่า จะทำ...
เพื่อให้ใจสงบ
เพื่อให้คลายเครียด
เพื่อจะได้เรียนเก่ง
เพื่อจะได้ใบหน้าผ่องใส สวยมากกว่าเดิม
เพื่อจะได้หายจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่ กำลังเป็นอยู่
เพื่อลดความอ้วน ไม่ต้องเปลืองสตางค์ ไปเข้าคอร์สลดความอ้วนตามที่ต่างๆ
เพื่อจะได้เป็นผู้วิเศษ มีหูทิพย์ ตาทิพย์ หรือรู้ใจ รู้ความคิดผู้อื่น
หรือแม้แต่เพื่อจะละกิเลส ถอดถอน อาสวะ เพื่อประจักษ์แจ้งพระนิพพาน
แค่คิดก็ผิดแล้ว!
เพราะหากตั้งใจ,พยายาม หรืออยากได้ อยากดีเกินไป ก็จะทำไปด้วยอำนาจของความโลภแม้จะเป็นความโลภในทางที่ดีอย่างนี้ก็ไม่ควร
ในการฝึกเจริญสตินั้นต้อง ไม่เอา ไม่หวัง ไม่เป็นใดๆ ทั้งนั้น ดุจดังพุทธพจน์ที่ว่า
“สัพเพ ธัมมานาลัง อะภินิเวสายะ. ธรรมทั้งหลายทั้งปวง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น” เมื่อปรับใจได้ถูกต้องเช่นนี้แล้ว ใจจะ ค่อยๆ ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในรูปนามนี้ว่า เป็นเราไปเรื่อยๆ เอง เพราะแท้จริงแล้ว ไม่มีเราที่จะละหรือวางอะไร ใดๆ ทั้งสิ้น