สิ่งที่พระพุทธศาสนายอมรับว่าเป็นความจริงนั้นมีอยู่ ๒ อย่าง คือ
๑. สมมติสัจจะ คือความจริงโดยสมมติ หรือสมมติว่าจริง เช่นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา สามี ภรรยา บุตร ธิดา ทรัพย์สมบัติของเรา เป็นต้น
๒. ปรมัตถสัจจะ คือความจริงโดยปรมัตถ์ เป็นความจริงแท้ แม้จะมีชื่อเรียกหรือไม่ก็ตาม ก็เป็นความจริงอยู่อย่างนั้น ซึ่งมีอยู่ ๔ ประการ ได้แก่
ก. จิต (ใจ, วิญญาณ, ธาตุรู้, ผู้รู้)
ข. เจตสิก (สิ่งที่ปรุงแต่งจิตให้ดี, ชั่ว,ชอบ, ชังฯลฯ) ทั้งจิตและเจตสิกนี้คือนาม
ค. รูป (กาย, คุณสมบัติของกาย)
ง. นิพพาน ภาวะที่พ้นจากรูปนาม
การศึกษาสิ่งที่อยู่นอกกายใจนั้น ชื่อว่า กำลังศึกษาสมมติสัจจะเช่น วิชาการทางโลก ประเพณี วัฒนธรรม กฎหมาย ศีล ข้อวัตรปฏิบัติ บาลี นักธรรม พระอภิธรรมซึ่งเป็นชื่อของธรรมะ เท่านั้น
แต่ในขณะที่กำลังเรียนรู้กายใจหรือรูปนามอยู่นี้ ชื่อว่ากำลังศึกษาปรมัตถสัจจะ
ปรมัตถสัจจะนั้น ผู้รู้มักไม่เห็น คือผู้รู้ปริยัติ (วิชาการ) มักไม่เคยสัมผัสกับสภาวะปรมัตถ์เช่น ญาณ สมาธิ ปีติ ปัสสัทธิเป็นต้น ผู้เห็นมักไม่รู้ คือบางคนไม่ได้ศึกษาปริยัติ แต่ลงมือเจริญสติ เรียนรู้รูปนามอยู่เนืองๆ จึงได้สัมผัสธรรมะของจริง ซึ่งสัมผัสได้ด้วยใจเท่านั้น
ยกตัวอย่างเช่น ในขณะที่จิตมีความสำรวม ระวังระลึกรู้อยู่นั้น คือศีล ในมรรค ๘ ได้แก่ สัมมาวาจา (กล่าววาจาถูกต้อง), สัมมากัมมันตะ (ทำหน้าที่ถูกต้อง), สัมมาอาชีวะ (ประกอบอาชีพ สุจริตไม่เบียดเบียน คดโกงใคร)
ในขณะที่จิตตั้งมั่นอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ในขณะหนึ่งๆ นั้น นั่นคือสมาธิ (ขณิกสมาธิ จิตตั้งมั่นชั่วคราว) ในองค์มรรค ๘ ได้แก่ สัมมาวายามะ (เพียรถูกต้อง), สัมมาสติ (ระลึกรู้กาย เวทนา จิต ธรรม ตามความเป็นจริง อย่างถูกต้อง), สัมมาสมาธิ (จิตตั้งมั่นอย่างถูกต้อง)
เมื่อระลึกรู้อยู่บ่อยๆ เห็นความเกิดขึ้นของอารมณ์ต่างๆ ที่เข้ามากระทบแล้วก็ดับไปตาม กฎเกณฑ์ของไตรลักษณ์ คือเห็นความเกิดดับของรูปนาม เรียกว่าเห็นด้วยปัญญา (ภาวนามยปัญญา) ในองค์มรรค ๘ ได้แก่ สัมมาทิฐิ (มีความเห็นหรือมุมมองที่ถูกต้อง), สัมมาสังกัปปะ (มีความคิดที่ถูกต้อง)
หรือในขณะที่กำลังรู้อารมณ์ใด อารมณ์ หนึ่งอยู่นั้น นั่นคือกำลังทำหน้าที่รู้ทุกข์ (การยึดมั่น ถือมั่นในกายใจว่าเป็น“เรา”นั่นแหละ คือสุดยอด ของทุกข์) หน้าที่ที่ควรทำในทุกข์ คือ“การรู้” (ปริญญากิจ) ไม่ใช่ “การละทุกข์”
ในขณะที่กำลังรู้ทุกข์อยู่นั่นเอง ตัณหาอัน เป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ที่เรียกว่า“สมุทัย” เกิดไม่ได้ เรียกว่ากำลังทำหน้าที่คือ“การละ”เหตุแห่งทุกข์ไปในตัวเสร็จสรรพ (ปหานกิจ)
ในขณะที่กำลังรู้ทุกข์อยู่นั้น กิเลสสงบ ระงับชั่วขณะ (ตทังคนิโรธ) เรียกได้ว่ากำลังทำ หน้าที่ “ประจักษ์แจ้ง” ในนิโรธอยู่ (สัจฉิกิริยากิจ)ในขณะรู้ทุกข์อยู่นั่นเอง มรรค ๘ กำลังทำ หน้าที่ประหารกิเลสอยู่ ชื่อว่ากำลังทำหน้าที่คือ “การทำให้เจริญ” ในมรรคอยู่ (ภาวนากิจ)
หรือในขณะที่รู้อาการของลมหายใจ, ความเคลื่อนไหวของอิริยาบถ, อาการของพองยุบ หรือรู้อาการทานข้าว, เดิน, อาบน้ำ, กวาดถูบ้าน อยู่นั้น ขณะนั้นชื่อว่ากำลังรู้กาย คือการเจริญ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน (มีอาการทางกายเป็น ที่ตั้งแห่งการระลึกรู้)
ในขณะที่รู้ลมหายใจฯลฯอยู่นั้นมีเวทนา คือความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเฉยๆ เกิดขึ้นที่กาย เช่น ยุงกัด, ปวดขา, ปีติ, มึนศีรษะ, กายเบาเป็นต้น ก็เปลี่ยนรู้จากกายไป รู้เวทนา นั้นแทน ชื่อว่า กำลังเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน (มีเวทนา คือความรู้สึกสุข ทุกข์ เฉยๆ เป็นที่ตั้งแห่งการระลึกรู้) ในขณะที่รู้ลมหายใจฯลฯอยู่นั้น จิตเกิด อาการอยากได้, โกรธ, ฟุ้งซ่าน, สงบ, อิ่มเอิบ, เบาสบายฯลฯ ก็ย้ายรู้ไปที่ใจ ชื่อว่ากำลังเจริญ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน (มีพฤติกรรมของใจ เป็นที่ตั้งแห่งการระลึกรู้)
ส่วนธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีอารมณ์ ทั้งรูปและนาม ฉะนั้นในขณะที่รู้กาย, เวทนา, จิต ก็ได้ชื่อว่ากำลังเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน (มีสภาวธรรมเป็นที่ตั้งแห่งการระลึกรู้) อยู่แล้ว
ในขณะที่รู้ลมหายใจอยู่นั้น หากเพ่งหรือ ประคองไปที่ลมหายใจโดยตรง จิตสงบตั้งมั่นอยู่ กับลมหายใจนั้น ขณะนั้นลมหายใจเป็นอารมณ์ ของสมถกรรมฐาน
หากรู้อาการของลมหายใจที่กระทบกับปลายจมูก แล้วมีปัญญาเห็นความเกิดดับของ อาการกระทบของลมหายใจ ขณะนั้นลมหายใจชื่อว่าเป็นอารมณ์ของวิปัสสนากรรมฐาน
จะเห็นได้ว่า “แค่รู้” ในขณะหนึ่งๆ นั้น ชื่อว่าผู้ปฏิบัติได้เจริญไตรสิกขา, มรรค ๘, อริยสัจ ๔, สติปัฏฐาน ๔, สมถกรรมฐานหรือ วิปัสสนากรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วแต่ สมมติบัญญัติจะเรียกว่าอะไรก็ตาม แต่ความเป็น จริงใจหรือ “ผู้รู้” กำลังรู้อารมณ์ที่เป็นปรมัตถ์ (อารมณ์จริงแท้) คือ รูปนาม (หรือกายใจ) อยู่นั่น เอง แล้วรูปนามอันเป็นธรรมชาตินี้ ก็เริ่มสอน ธรรมให้ผู้เจริญสติได้เห็นความเป็นจริงของชีวิตว่าเป็นเพียงมายา ดุจดั่งเงาจันทร์ในน้ำ ที่หลอกให้ผู้ ที่ไม่เคยเจริญสติ หลงแบก หลงยึดว่าเป็น “ตัวเรา-ของเรา” กันมาไม่รู้กี่ภพกี่ชาติแล้ว
หากอ่านบทนี้แล้วไม่เข้าใจก็ไม่ใช่เรื่อง แปลก เพราะความเข้าใจที่แท้จะเกิดได้ไม่ใช่ เพราะอ่านหรือฟัง แต่ต้องลงมือปฏิบัติเองเท่านั้น